ออมสิน เดินหน้าแก้ “หนี้ครู” เกือบ 4 แสนราย

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ออมสิน เดินหน้าแก้ “หนี้ครู” เกือบ 4 แสนราย ชี้เงินเดือนครูไม่ช่วยแก้หนี้ได้หมด แนะใช้เงินกองทุนสะสม บำเหน็จตกทอดมาช่วยแก้หนี้ให้ก่นอเกษียณ พร้อมเดินหน้าดันสินเชื่อเสริมสภาพคล่องสหกรณ์ออมทรัพย์ครู หวังเพิ่มการเข้าสินเชื่อดอกกเบี้ยต่ำในระบบ

“หนี้” ปัญหาใหญ่ของไทยขณะนี้ โดยเฉพาะ “หนี้ครู” ที่ฝั่งอยู่มานาน จนกลายเป็นดินพอกหางหมู เพราะปัจจัยเรื่องของอาชีพ ทำให้ “อาชีพครู” สามารถใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมได้ ทั้งการกู้ผ่านสหกรณ์ กู้จากสมาชิกกองทุนต่างๆ กู้ผ่านสถาบันการเงินในระบบ รวมทั้งกู้นอกระบบ

 

ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า ครูและบุคคลากรทางการศึกษากว่า 9 แสนคนทั่วประเทศ มีหนี้สินในระบบรวมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู เป็นจำนวน 8.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น64% รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน จำนวน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 25% ของหนี้สินครูทั้งหมด

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวว่า ในการแก้หนี้ข้าราชการครู ไม่สามารถเอาเงินเดือนมาช่วยแก้ได้ แต่จะต้องนำเงินส่วนอื่นมาช่วยแก้ เช่น เงินจากบำเหน็จตกทอดที่ได้ตอนเสียชีวิต เงินจากกองทุน กบข. ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. กบข. สามารถนำเงินออกจากองทุนได้ทั้งก้อนทั้งในส่วนของสมาชิกและเงินสมทบจากรัฐ

แนวทางที่ต้องการผลักดัน และไม่ให้กระทบต่อวินัยการออม คือ จะให้นำเงินออกมาใช้ได้ หรือ อาจเป็นลักษณะการกู้ออกมาบางส่วน เฉพาะส่วนที่เป็นเงินสะสมของตัวเอง เพื่อนำมาชำระหนี้ และให้ทยอยผ่อนคืนกลับเข้ากองทุนภายหลัง โดยตั้งเงื่อนไขผู้ทำได้ คือ เป็นข้าราชการที่ยังไม่เกษีณอายุ และเฉพาะคนที่มีปัญหาจริงๆ เช่น ถูกฟ้อง ถูกบังคับคดี หรือถูกปรับโครงสร้างหนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่จ่ายได้เฉพาะดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่าผลตอบแทนที่จะได้รับจากการฝากเงิน กบข. จึงมองว่าควรนำเงินออกจากกองทุนบางส่วน มาใช้ชำระหนี้

“แม้การนำเงินบางส่วนออกมาจากกองทุนฯ จะแก้หนี้ได้ไม่ทั้งหมด เช่น เป็นหนี้ 2 ล้าน แต่หากนำเงินออกมาจากกองทุนบางส่วน เช่น ประมาณ 5 แสนบาท เพื่อนำมาชำระหนี้เงินต้น สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ยอดหนี้จะหายไปอย่างชัดเจน และยังสามารถขอยืดหนี้ เช่น จาก 20 ปี เป็น 25-30 ปี และขอลดดอกเบี้ยเพิ่ม ซึ่งจะทำให้สถานะจากที่ชำระหนี้ไม่ได้ กลับมามีความสามารถในการชำระหนี้ได้ทันที” นายวิทัย กล่าว

 

นายวิทัย กล่าวอีกว่า ยังอยู่ระหว่างผลักดัน มาตรการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการครู โดยรูปแบบ คือ ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้สหกรณ์ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ เช่น อัตราดอกเบี้ย 2% เพื่อให้สหกรณ์ไปรีไฟแนนซ์หนี้ของครู โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 4% ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ของครู ที่ต้องไปกู้หนี้จากที่อื่น เช่น ลิสซิ่ง ดอกเบี้ย 20% หรือ สินเชื่อบัตรกดเงินสดที่คิดดอกเบี้ย 7%-8% ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการแก้หนี้ข้าราชการครูดังกล่าว จะมีการนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบในที่ประชุมบอร์ดอีกครั้ง

 

ขณะที่ความคืบหน้าการแก้ปัญหาหนี้ครู ซึ่งภายหลังจากธนาคารออมสิน ช่วยรีไฟแนนซ์ หรือ รวมหนี้ครู จากที่อื่นมารวมไว้ที่ธนาคารออมสินที่เดียว เพื่อลดภาระการชำระดอกเบี้ยสูงจากการกู้เงินจากที่อื่น ทำให้ยอดล่าสุดมีจำนวนครูที่เข้ามาเป็นลูกหนี้กับธนาคารออมสินแล้ว จำนวน 3.9 แสนบัญชี มูลหนี้รวม 3.3 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยไม่ถึง 1 ล้านบาทต่อราย ซึ่งในจำนวนนี้ มี 2.9 แสนบัญชี มูลหนี้รวม 2.3 แสนล้านบาท ที่เป็นครูลูกหนี้ที่ชำระหนี้ดี ซึ่งจะได้รับการลดดอกเบี้ยลง 0.1% – 1% ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องการผ่อนชำระประมาณ 1 แสนบัญชี ได้เข้าสู่มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และจะได้รับการลดดอกเบี้ยลงเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครู ซึ่งการแก้หนี้อาจเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ที่อาจไม่เพียงพอและไม่ยั่งยืนในระยะยาว แต่คงต้องมองไปถึงปัญหาที่แท้จริงของการเป็นหนี้ โดยเฉพาะเรื่องของค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพ รวมทั้งวินัยทางการเงินให้เกิดขึ้นที่ตัวบุคคลด้วย

 

นายวิทัยยังกล่าวถึงภาพรวมการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของธนาคารออมสิน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19ว่า หลังได้เข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย ที่มีปัญหาเรื่องการผ่อนชำระและเสี่ยงเป็นหนี้เสีย ตั้งแต่ช่วงต้นปี 64 กว่า 870,000 บัญชี รวมมูลหนี้ 4 แสนล้านบาท ซึ่งจากการเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้คงเหลือลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ ณ สิ้นปี 64 ประมาณ 6 แสนบัญชี

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 64 ธนาคารออมสิน ได้เปิดให้ลงทะเบียนมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนตามนโยบายของ ธทป. โดยมีลูกหนี้รายย่อยเข้าร่วมมาตรการจำนวน 410,000 บัญชี คิดเป็นมูลหนี้รวม 230,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนหนี้ มี 120,000 บัญชี เป็นลูกหนี้กลุ่มสีแดง คิดเป็นมูลหนี้รวม 50,000 ล้านบาท โดยธนาคารได้ตั้งสำรองส่วนเกินเพื่อรองรับความเสี่ยงจากหนี้เสียในกลุ่มนี้ไว้แล้ว ปัจจุบันได้ตั้งสำรองไว้รองรับแล้วทั้งหมด 3.6 หมื่นล้านบาท และจะทยอยสำรองส่วนเกินให้ได้ตามที่ ธปท.กำหนด

อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market